คุณภาพน้ำ VS การซักผ้า
ในอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะด้านอาหาร ยา หรืออิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมความสะอาดในไลน์ผลิตมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เสื้อผ้าที่พนักงานสวมใส่ หากมีการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น หรือเชื้อโรค ล้วนส่งผลต่อชิ้นงานผลิตและความไว้วางใจของลูกค้า ดังนั้น การเลือกบริการซักผ้าสำหรับพนักงานที่ได้มาตรฐานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ
หนึ่งในปัจจัยที่โรงซักผ้าที่ได้มาตรฐานควรคำนึงถึงเสมอ คือเรื่อง “น้ำ” หรือ Water Supply
น้ำ แม้จะมาจากแหล่งกำเนิดที่สะอาดเพียงใด แต่ก็ต้องผ่านท่อ และที่เก็บน้ำระหว่างทาง ทำให้อาจเกิดการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นหินปูนหรือโลหะที่หลุดมาจากท่อ หรือจะเป็นเชื้อโรคที่เกิดจากตะไคร่น้ำตามท่อ ดังนั้นหากนำน้ำนั้นมาใช้โดยตรงโดยไม่ผ่านเครื่องกรองที่มีประสิทธิภาพ น้ำที่นำมาใช้ซักผ้าก็จะติดสิ่งเจือปนมาด้วย
แม้เครื่องซักผ้าในระดับอุตสาหกรรม จะมีคุณสมบัติพิเศษหรือใช้อุณหภูมิที่สูงในการซักขนาดไหน หรือถึงแม้เคมีซักผ้าจะเป็นเคมีชั้นเลิศ แต่ถ้าหากน้ำมีสารปนเปื้อน ก็อาจส่งผลต่อผ้าได้
ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำที่ใช้ในการซักผ้า
1. ความกระด้างของน้ำ (Water Hardness)
2. ความขุ่นของน้ำ (Turbidity)
3. ความเป็นกรด-ด่าง (pH)
4. คลอไรด์ (Chloride)
5. เหล็ก (Fe2+)
6. แมงกานีส (Mn2+)
7. ค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า (Conductivity/EC)
1. ความกระด้างของน้ำ (Water Hardness) VS การซักผ้า
เกิดจากการที่มีสารจำพวกแคลเซียม (Ca2+) และแมกนีเซียม (Mg2+) อยู่ในน้ำ แล้วจับกับกลุ่มไอออนลบ ทำให้เกิดเป็นหินปูนเจือปนอยู่ในน้ำ
ความกระด้างของน้ำ แบ่งออกได้เป็น
- ความกระด้างชั่วคราว เกิดจาก CO3 2- หรือคาร์บอเนต: เช่น CaCO3, MgCO3
- ความกระด้างถาวร เกิดจาก SO4 2- หรือ ซัลเฟต กับกลุ่ม Cl- หรือ คลอไรด์: เช่น CaSO4, MgSO4, CaCl2, MgCl2
น้ำที่มีความกระด้างสูงจะทำให้เกิดตะกรัน ซึ่งเมื่อซักผ้าออกมาอาจทำให้เกิดทั้งคราบ ฟองน้ำยาเคมีที่ล้างออกยาก รวมถึงอาจส่งผลให้มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถานที่ซักผ้าจึงมีการใช้เครื่องทำน้ำอ่อน หรือ Water Softener เพื่อแปลงน้ำกระด้าง (Hard Water) ให้กลายเป็นน้ำอ่อน (Soft Water) โดยกระบวนการที่ช่วยขจัดแคลเซียมและแมกนีเซียม นั่นเอง
หน่วยของความกระด้างน้ำมีหลากหลายแบบ เครื่องวัดโดยทั่วไปมักใช้หน่วยเป็น mg (CaCO3)/L ซึ่งเทียบเท่ากับ ppm ในขณะที่บางที่ใช้หน่วยเป็น mmol (CaCO3)/L ในขณะที่ทางยุโรปมักใช้หน่วยแบบเยอรมันหรือ dH โดยตารางเปรียบเทียบน้ำ Soft – Hard เป็นดังนี้
ซึ่งตามมาตรฐานการซักผ้าทั่วไป ค่าความกระด้างไม่ควรเกิน 4-5 dH หรือ 71 mg/L CaCO3 แต่โรงงานไฮก้า สามารถควบคุมมาตรฐานไว้ที่ระดับ <30 mg/L ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดคราบตะกรันหรือกลิ่นเหม็นอับบนผ้าอย่างแน่นอน
2. ความขุ่นของน้ำ (Turbidity) VS การซักผ้า
เกิดได้ทั้งจากสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารแขวนลอยอยู่ในน้ำ บดบังแสงและเกิดการหักเห ทำให้น้ำขุ่น ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อทัศนคติจากการมองเห็นแล้ว ยังทำให้เครื่องกรองน้ำตันไว อายุการใช้งานสั้น ต้องใช้สารเคมีในการซักผ้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งสารบางส่วนก็ทำให้เกิดคราบสกปรกได้ด้วยเช่นกัน
ความขุ่นของน้ำ มีหน่วยเป็น NTU ซึ่งเท่ากับ 1 มิลลิกรัม (formazin) ต่อน้ำ 1 ลิตร (mg/L) โดยในมาตรฐานการประปา ค่า Turbidity ไม่ควรเกิน 4 NTU ในขณะที่โรงงานไฮก้า ควบคุมมาตรฐานค่าความขุ่นให้ไม่เกิน 0.5 NTU เท่านั้น
3. ความเป็นกรด-ด่าง (pH) VS การซักผ้า
น้ำธรรมชาติจะมีค่า pH อยู่ที่ 6.5-8.5 แต่หากมีแก๊ส CO2 อยู่มาก อาจส่งผลให้น้ำเป็นกรด pH<5 ได้ หรือหากน้ำมีความกระด้างสูง จาก CO3 2- (คาร์บอเนต) ก็อาจส่งผลให้น้ำเป็นด่าง pH >9 ได้เช่นกัน
น้ำที่มีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป จะมีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้ท่อชำรุด และสารเคลือบที่อยู่ด้านในท่ออาจเจือปนมากับน้ำได้ ดังนั้นการควบคุมให้ pH อยู่ค่อนไปทางกลางจึงดีที่สุด
เช่นเดียวกันกับการซักผ้า แม้สารเคมีที่ใช้ในการซักผ้าจะมีฤทธิ์เป็นกรดบ้าง ด่างบ้าง กลางบ้าง แต่น้ำที่ใช้เริ่มต้นในการซักควรมีฤทธิ์เป็นกลางค่อนไปทางด่างเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายเนื้อผ้า และเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีแก่น้ำยาเคมีในการออกฤทธิ์ทำลายคราบ โดยควบคุมให้ค่า pH ของน้ำอยู่ที่ประมาณ 7.0-7.5 จะดีที่สุด
4. คลอไรด์ (Chloride) VS การซักผ้า
คลอไรด์เป็นสารละลายที่หากมีมากเกินไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดรสกร่อยหรือเค็มได้ โดยหากน้ำที่ใช้ในการซักล้างมีค่าคลอไรด์เกิน 250 mg/L จะทำให้ผ้าเกิดรอยด่างได้
ดังนั้นการใช้เครื่อง Softener เพื่อกรองคลอไรด์ออกจากน้ำ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางโรงงานไฮก้าให้ความสำคัญ เพื่อให้ผ้าของลูกค้าเกิดปัญหาจากรอยด่างน้อยที่สุด
5. เหล็ก (Fe2+) VS การซักผ้า
ธาตุเหล็ก สามารถปนเปื้อนได้จากหลายทาง โดยมากจะพบในดินและหิน น้ำที่มีธาตุเหล็กปนเปื้อนมักจะดูใสเนื่องจากอยู่ในสภาวะที่ละลายน้ำได้ (Fe2+) แต่เมื่อเหล็กถูกอากาศจะถูก oxidised ให้กลายเป็น Fe3+ ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ไม่ละลายน้ำ และทำให้เกิดคราบสีน้ำตาลส้มหรือแดงได้
ดังนั้น ในน้ำที่ใช้สำหรับการซักผ้า ควรควบคุมปริมาณเหล็กให้ต่ำกว่า 0.3 mg/L จึงจะไม่เกิดปัญหาคราบสนิมดังกล่าว
6. แมงกานีส (Mn2+) VS การซักผ้า
แมงกานีสก็เป็นธาตุโลหะที่พบได้จากหินและดินเช่นเดียวกันกับเหล็ก ในสภาวะไร้อากาศจะอยู่ในรูป Mn2+ ซึ่งสามารถละลายน้ำได้ แต่เมื่อถูกอากาศ จะถูก oxidised กลายเป็น Mn4+ ซึ่งเป็นสถานะที่ไม่ละลายในน้ำ และเมื่อน้ำที่มีแมงกานีสเจือปนเกินกว่า 0.05 mg/L ถูกนำไปใช้ในการซักผ้า ก็จะทำให้เกิดคราบสีน้ำตาลเข้มได้ ดังนั้นจึงต้องระวังและควบคุมปริมาณแมงกานีสในน้ำด้วยเฉกเช่นเดียวกัน
7. ค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า (Conductivity) VS การซักผ้า
ค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า เกิดจากสารอนินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำ ยิ่งมีปริมาณมาก ค่าการเหนี่ยวนำจะยิ่งสูง ซึ่งโดยทั่วไป ค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้ามักจะสัมพันธ์กับความกระด้างของน้ำ โดยมักมีค่าเป็นสองเท่าของ Total Dissolved Solids (TDS)
ความสำคัญของการเหนี่ยวนำไฟฟ้ากับการซักผ้า ไม่ได้มีหลักฐานที่บอกชัดเจนโดยตรงว่าส่งผลต่อเนื้อผ้าอย่างไร โดยทั่วไปมักใช้ในการ monitoring ดูการเปลี่ยนแปลงของสารละลายในน้ำเป็นหลัก
เว้นแต่ ถ้าหากชุดที่นำมาซักเป็นผ้า ESD ที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เข้มงวดเรื่องการเหนี่ยวนำประจุไฟฟ้า ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้าให้น้อยที่สุด
โดยเบื้องต้น การใช้เครื่องกรองน้ำสำหรับดื่มด้วยวิธี RO (reverse osmosis) สามารถช่วยลดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 100 microSiemen/cm ได้ ซึ่งสำหรับโรงงานไฮก้าของเราเองก็มีการใช้เครื่องกรองน้ำ RO เพื่อกรองน้ำก่อนเข้าเครื่องซักผ้าเช่นเดียวกัน
สรุป เรื่องผลของคุณภาพน้ำต่อการซักผ้า
ปัจจัยที่ได้กล่าวถึงทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นที่ช่วยให้คุณภาพน้ำเหมาะแก่การซักผ้าโดยปราศจากปัญหา แต่การจะเลือกผู้ให้บริการซักผ้าที่เหมาะสมกับคุณนั้น ควรต้องพิจารณารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความเชี่ยวชาญ ความสะอาดของสถานที่และพนักงานที่ดูแลกระบวนการซักผ้า บริการให้ความช่วยเหลือหลังขาย ระยะทางและการขนส่ง อีกทั้งราคาควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย
โรงงาน HYGA ซึ่งให้บริการซักผ้าระดับอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานความสะอาดเป็นอย่างมาก น้ำในการซักผ้าจึงต้องผ่านเครื่องกรองทั้งระดับหยาบ (Softening) ที่ช่วยลดความกระด้างของน้ำ และเครื่องกรองน้ำบริสุทธิ์ (RO) ที่ช่วยกรองแร่ธาตุที่สร้างประจุไฟฟ้าในน้ำ ทำให้น้ำสะอาดเพียงพอสำหรับการดื่มได้ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ในการซักผ้า จะไม่ทำให้เกิดตะกอนคราบเหลือง หรือมีสิ่งปนเปื้อนมากับแหล่งน้ำอย่างแน่นอน
อ้างอิง:
Nidhi G. and Seema S., Water quality considerations for better laundry results. International Journal of Applied Home Science Vol 3., Jan 2016.
Robert McFaul, Water – Its Effect on Laundering, H2Odistributors.com, read since 2022
ฯลฯ