ชุดคลีนรูม คืออะไร?
“ชุดคลีนรูม” หรือบางที่เรียกว่า “ชุดหมี” “ชุดสม็อค” บ้างก็เรียกว่า “ชุด ESD” มันคืออะไรกันแน่ มาดูความหมายของศัพท์แต่ละคำกันค่ะ
1. ชุดคลีนรูม
ไม่ใช่ชุดสำหรับพนักงานทำความสะอาด แต่หมายถึงชุดสำหรับใส่ในคลีนรูม (Cleanroom) หรือห้องปลอดฝุ่น ซึ่งคุณสมบัติหลัก ๆ จะต้องสามารถป้องกันไม่ให้ฝุ่น สิ่งสกปรก เหงื่อ หรือเชื้อโรค จากด้านในของชุด กระจายออกไปสู่ด้านนอกได้
ดังนั้น วัสดุที่ใช้จะต้องเป็นวัสดุที่ไม่เป็นขุยหรือทำให้ฝุ่นเกาะได้ง่าย บางเบาสวมใส่สบาย ไม่อบร้อนจนทำให้เหงื่อออก เส้นใยเรียงตัวเป็นระเบียบไม่ให้มีเศษฝุ่นหรือเชื้อโรคซอกซอนอยู่ตามเส้นใยผ้า ดังนั้นจึงมักเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีเส้นใยเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เช่น Polyester หรือ Polypropylene เป็นต้น
ทั้งนี้ ชุดคลีนรูม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ reusable (ใช้ซ้ำ ซักได้) กับ disposable (ใช้แล้วทิ้ง) ซึ่งอย่างหลังมักใช้ในทางการแพทย์ หรือที่ที่สัมผัสเชื้อโรคที่หากนำมาใช้ซ้ำอาจเกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายได้ (ดังเช่นชุด PPE) โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะแบบใช้ซ้ำ
2. ชุด ESD
มาจากคำว่า Electrostatic discharge หรือ ไฟฟ้าสถิต ชุด ESD คือชุดที่มีคุณสมบัติ Anti-static หรือการป้องกันไฟฟ้าสถิตนั่นเอง
ทำไมจึงต้องสวมชุดป้องกันไฟฟ้าสถิต? เมื่อพูดถึงไฟฟ้าสถิต เราอาจนึกถึงเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าจะไม่ต้องการให้มีไฟฟ้าสถิตมารบกวนผลิตภัณฑ์ แต่จริง ๆ แล้ว การเกิดไฟฟ้าสถิตก็มีความเกี่ยวข้องกับฝุ่น เนื่องจากฝุ่นที่ลอยอยู่บนอากาศนั้นก็มีประจุ และเมื่อมันไปสัมผัสกับพื้นผิวใด ๆ ที่มีประจุฝั่งตรงข้าม มันจะเข้าไปติดอยู่กับสิ่งนั้น เช่น ฝุ่นประจุลบ อาจไปเกาะกับพื้นผิวผ้าที่มีประจุบวก เป็นต้น ดังนั้น หากไม่ต้องการให้ชุดที่สวมใส่มีฝุ่นเกาะอยู่ด้วยนั้น ก็ควรที่จะสวมชุดที่มีคุณสมบัติป้องกันไฟฟ้าสถิต หรือ ชุด ESD นั่นเอง
การสังเกตว่าชุดที่สวมอยู่มีคุณสมบัติป้องกันไฟฟ้าสถิตหรือไม่นั้น ทำได้ไม่ยาก เนื่องจากวัสดุที่ช่วยเหนี่ยวนำทำให้ประจุเป็นกลางคือ เส้นใยคาร์บอน (Carbon fiber) ที่มีสีดำ ซึ่งผู้ผลิตผ้ามักจะนำเส้นใยคาร์บอนมาทอแทรกไว้บนเนื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester textile) บางครั้งทอเป็นลายทางเดียวตามแนวยาวของชุด บางครั้งทอเป็นลายตารางซึ่งลายตารางนั้นถือว่ามีคาร์บอนสูงกว่า จึงช่วยป้องกันไฟฟ้าสถิตได้ดีกว่าแบบลายทางเดียว
ตัวอย่างผ้าโพลีเอสเตอร์ แทรกเส้นใยคาร์บอนลายทาง
นอกจากชุด ESD แล้ว หมวก รองเท้า หรือกระทั่งกระเป๋า ผ้ากันเปื้อนเอง ก็มีแบบ ESD เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะมีฝุ่นติดอยู่บนเนื้อผ้าน้อยที่สุดนั่นเอง
3. ชุดหมี (Coverall Suit, Bunny Suit)
เป็นคำเรียกลักษณะการตัดเย็บชุด ที่คลุมทั้งตัว คอสูง แขนยาวถึงข้อมือ ขายาวถึงข้อเท้า โดยมากมักมีฮู้ดคลุมศีรษะ บางที่ปิดจนเหลือแค่ตา บางที่ปิดจนเหลือใบหน้า หรือบางที่ตัดเย็บเฉพาะส่วนลำตัว โดยส่วนฮู้ดจะตัดเย็บแยกเป็นผ้าอีกผืน แล้วนำมาสวมใส่เข้าด้วยกันอีกที ทั้งนี้ วัสดุของชุดหมี อาจจะเป็นแบบ ESD หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ลักษณะการใช้งานและความเข้มงวดเรื่องฝุ่น
4. ชุดสม็อค (Smock Suit)
เป็นอีกชื่อเรียกของวิธีการตัดเย็บ ที่ความเข้มงวดจะน้อยกว่าชุดหมี โดยลักษณะจะคล้ายชุดกาวน์แพทย์ ที่มีแขนยาว ส่วนล่างเป็นชายกระโปรงคลุมเหนือเข่าหรือเลยเข่าก็ได้ ส่วนคอเสื้อมีหลายลักษณะ เช่น แบบคอจีน ปกเสื้อจะชิดคอคล้ายชุดจีนกี่เพ้า หรือคอปก ที่ปกเสื้อจะบานออกคล้ายเสื้อเชิ้ตธรรมดา ทั้งนี้ วัสดุอาจจะเป็นผ้าคลีนรูม ESD, ผ้าฝ้าย (Cotton) หรือวัสดุอื่นก็ได้ ขึ้นกับการใช้งานและความเข้มงวดเรื่องการปนเปื้อนเช่นเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป “ชุดคลีนรูม” หรือ “ชุด ESD” คือชุดที่ใช้ป้องกันสิ่งปนเปื้อนจากร่างกายออกสู่ภายนอกโดยเฉพาะฝุ่น มักเรียกแทนกันได้ และมักใช้ในอุตสาหกรรมที่เข้มงวดเรื่องฝุ่น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (บางแผนก) อุตสาหกรรมเชื่อมต่อแผงวงจร อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตยา หรือกระทั่งเครื่องสำอาง โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะเข้มงวดสิ่งปนเปื้อนต่างกัน จึงเลือกใช้ชุดที่แตกต่างกันไปแล้วแต่อุตสาหกรรม โดยโรงงาน HYGA ได้เล็งเห็นถึงความเข้มงวดในเรื่องการปลอดเชื้อ ปลอดฝุ่น ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงมุ่งเน้นการบริการซักผ้าที่ได้มาตรฐานด้านความสะอาด ปลอดภัย ปลอดเชื้อโรค อย่างแท้จริง
นอกจากคำเรียกกล่าวข้างต้น ยังมีคำศัพท์เกี่ยวกับชุดอีกบางคำที่ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าแตกต่างกันอย่างไร HYGA จึงได้รวบรวมมาให้เพิ่มเติม ดังนี้
5. ชุดกาวน์ (Gown)
ตามนิยามจริง ๆ แล้วแปลว่า ชุดคลุมยาวที่เสื้อและกระโปรงติดเป็นชิ้นเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นคำศัพท์กว้าง ๆ สำหรับใช้เรียกชุดใด ๆ ที่มีลักษณะคลุมลำตัว ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นชุดในห้องปฏิบัติการ หรือสำหรับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง
6. Jumpsuit
คือชุดที่เสื้อและกางเกงเย็บติดเป็นชิ้นเดียวกัน คล้ายกับชุดกาวน์แต่เป็นกางเกง ดังนั้น หากบางที่จะเรียกชุดหมีว่า Jumpsuit จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชุดหมีก็ถือเป็นการที่เสื้อติดกับกางเกงเช่นเดียวกัน
7. ชุดช็อป หรือ เสื้อช็อป
เป็นศัพท์เรียกของคนไทยในการเรียกชุดของวิศวกร เนื่องจากในการเรียนวิศวะนั้นจะมีภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหรือวิชาช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างกล ฯลฯ ซึ่งภาคปฏิบัติถูกเรียกว่าการ “ลงช็อป” ดังนั้น การสวมชุดที่ใส่ในการเรียนภาคปฏิบัติ จึงถูกเรียกว่า “เสื้อช็อป” หรือ “ชุดช็อป” แม้จะเรียนจบจนเป็นวิศวกรแล้ว ชุดช่างที่สวมใส่ก็ถูกเรียกติดปากว่า “ชุดช็อปช่าง” ด้วยเช่นกัน
8. ชุดสครับ (Scrub suit)
เป็นคำเรียกชุดที่แพทย์หรือพยาบาลใส่ ลักษณะเป็นเสื้อและกางเกงที่สวมสบาย เนื้อผ้าเบา คอไม่มีปก กางเกงอาจเป็นแบบผูกเชือกหรือยางยืดก็ได้ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงเรียกว่า “สครับ” ทั้งนี้ Scrub ที่แปลว่า “ขัดถู” มีที่มาจากห้องผ่าตัด เวลาที่แพทย์หรือพยาบาลจะผ่าตัดจำเป็นต้องล้างมือด้วยขั้นตอนที่พิถีพิถัน มีการขัดฟอกเป็นพิเศษ ซึ่งขั้นตอนนี้เราเรียกว่าการ “สครับ” อีกทั้งผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดเองก็จำเป็นต้องได้รับการขัดฟอกบริเวณผิวหนังที่จะทำการผ่าตัด ที่เรียกว่าการ “สครับ” เช่นกัน ดังนั้นพยาบาลที่เป็นผู้ช่วยในห้องผ่าตัดที่อาจต้องทำหน้าที่นี้จึงได้รับการเรียกขานว่า “พยาบาลสครับ” และชุดที่มักใช้สวมใส่ในห้องผ่าตัด ก่อนจะสวมชุดผ่าตัดทับอีกชั้น จึงถูกเรียกว่า “ชุดสครับ” ซึ่งภายหลัง ได้มีการนำชุดสครับมาใส่สำหรับแผนกอื่น ๆ นอกห้องผ่าตัดเนื่องจากสวมใส่สบาย ทำให้ทำงานอย่างคล่องตัว จึงมีการนำมาใช้กันในวงกว้างขึ้น แต่ก็ยังคงใช้ชื่อเรียกว่า “ชุดสครับ” นั่นเอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านพอเข้าใจคำศัพท์เรียกขานของชุดยูนิฟอร์มแต่ละประเภทกันมากขึ้นแล้ว หากสนใจให้ HYGA ดูแลความสะอาดของชุดยูนิฟอร์มของโรงงานของท่าน HYGA ก็ยินดีให้บริการค่ะ